top of page
  • รูปภาพนักเขียนSarunya Chaiduangsri

PDPA กลไกใหม่ ยกระดับข้อมูลไทยสู่เวทีโลก



#SecurityUpdate | PDPA กลไกใหม่ ยกระดับข้อมูลไทยสู่เวทีโลก


เป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้วที่ PDPA หรือ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งการเริ่มต้นบังคับใช้นี้ทำให้หลายคนหลายฝ่ายเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องความเป็นส่วนตัว ทว่าก็ยังมีอีกไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจว่า PDPA คืออะไร มีขึ้นเพื่ออะไร และสำคัญกับเราอย่างไรบ้าง วันนี้เราจะพามาทำความรู้จักกับกฎหมายฉบับนี้กันให้มากขึ้น กับ ดร.มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูล ที่จะมาอธิบายความหมายของ PDPA ให้เข้าใจกันง่ายขึ้น


PDPA คืออะไร ?


ดร. มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ผู้เชี่ยวชาญ และคร่ำหวอดในวงการข้อมูล ได้ให้คำอธิบายว่า PDPA คือ พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นกรอบธรรมาภิบาลที่นำมาใช้กำกับการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ โดยต้องไม่ละเมิดสิทธิ์เจ้าของข้อมูล อีกทั้งกฎหมายฉบับนี้ยังให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคลมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหลายประเทศที่มีข้อกำหนดในการปฏิบัติเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลแล้ว


PDPA บังคับใช้แล้ว หน่วยงานในไทยพร้อมหรือยัง ?


สำหรับประเทศไทย PDPA มีการประกาศใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นเวลา 3 ปี แล้ว โดยในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมาได้มีการเตรียมความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของผู้ที่ดูแลกฎหมายนี้ มีการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) และได้มีการเขียนกฎหมายลูกเพื่อรองรับ วางแผน และทำสื่อต่าง ๆ เพื่อให้ความรู้กับประชาชนทั่วไป ในส่วนภาครัฐก็ตื่นตัวมากขึ้นเพื่อปรับปรุงระบบให้รับกับกฎหมายฉบับนี้ และไม่ละเมิดสิทธิเจ้าของข้อมูล ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐหลายหน่วยงานก็มีความพร้อม และเริ่มที่จะพัฒนาแผนงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น


แล้วคนไทยพร้อมหรือยัง ?


ทั้งนี้ด้วยการทำงานของภาครัฐในปัจจุบันมีการแบ่งปัน และแชร์ข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อลดความซ้ำซ้อนจัดเก็บข้อมูลมากขึ้น นอกจากจะทำให้หน่วยงานของรัฐเองเกิดความตระหนักมากขึ้นว่าจะต้องแชร์ข้อมูลอย่างไรถึงจะถูกกฎหมาย และไม่ละเมิดสิทธิ์เจ้าของข้อมูล ในด้านของประชาชนก็ต้องมีการตระหนักว่า ความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของข้อมูล ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจมากขึ้น เพราะเมื่อถูกนำข้อมูลไปใช้ เราก็ควรต้องรู้ว่าข้อมูลที่นำไปใช้นั้นไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใด ผู้นำไปใช้ก็ต้องชี้แจงให้ละเอียด และจะต้องนำไปใช้ภายในขอบเขตที่แจ้งไว้เท่านั้น หากมีการละเมิดก็จะถือว่าผิดกฎหมาย นอกจากนี้ตัวเจ้าของข้อมูลก็ต้องคิดให้ดีก่อนจะให้ข้อมูลกับใคร เพราะเมื่อให้ไปแล้ว ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำไปทำซ้ำ เพื่อประโยชน์ในด้านอื่น ๆ เพิ่มเติมได้


คนไทยจะตื่นตัวกับกฎหมาย PDPA เมื่อไหร่ ?


แม้คนไทยจะเริ่มมีการตื่นตัวในเรื่อง PDPA บ้างแล้ว แต่ยังเป็นขั้นตอนของการทำให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายระบุ สังเกตได้จากเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เริ่มมีให้กดยินยอมในการเก็บ Cookies บนหน้าเว็บไซต์ คนไทยส่วนใหญ่ยังก็จะมีการกดยอมรับโดยไม่ได้ตระหนักถึงรายละเอียด คนจะเริ่มตื่นตัวมากขึ้นก็ต่อเมื่อเริ่มมีข่าว หรือมีการนำข้อมูลไปใช้ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะหากมีกรณีที่มีการลงโทษทางกฎหมายขึ้นมาก็จะยิ่งทำให้การตระหนักถึงเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลได้รับความสนใจมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพัก เพราะนับจากนี้ไปอีก 2 ปี จะเป็นช่วงให้ความรู้แก่ประชาชนเพื่อให้เกิดการรับรู้มากขึ้น



“กฎหมาย PDPA ฉบับนี้ให้ความสำคัญกับสิทธิส่วนบุคคล เราเองเป็นผู้ที่ถูกนำข้อมูลไปก็ต้องตระหนัก ”



โพสต์: Blog2 Post
bottom of page