Jitanon Maneekhwan
ตำรวจเตือน "ยาลิ้นฟ้า" ระบาด หวั่นเยาวชนถูกชักจูง

#SecurityUpdate | ตร. เตือน "ยาลิ้นฟ้า" ระบาด หวั่นเยาวชนถูกชักจูง
วันนี้ (17 ส.ค.) เพจสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โพสต์เตือน วอนผู้ปกครองหมั่นดูแลลูกหลานในครอบครัว หวั่นถูกชักจูง หลัง "ยาลิ้นฟ้า" ระบาด โดย พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. (ปป.) และผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศอ.ปส.ตร.) เปิดเผยว่า จากที่ปรากฏในสื่อ กรณีวัยรุ่นบางกลุ่มนิยมใช้ยาลิ้นฟ้า หรือ ยาโรฮิบนอล (ชื่อทางการค้าของยาในกลุ่ม Flunitrazepam) ในทางที่ผิด เนื่องจากยาดังกล่าวจัดอยู่ในกลุ่มวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ถือเป็นยาควบคุม ไม่มีขายทั่วไป ต้องจ่ายยาโดยแพทย์เท่านั้น

ขณะที่ผู้ที่ลักลอบจำหน่ายยาฟลูนิแทรซิแพม หรือ ยาต้องห้าม และผู้ที่นำไปใช้เสพ จำหน่าย หรือโฆษณาเชิญชวน ถือว่ามีความผิด จะถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งขณะนี้ได้สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บูรณาการสืบสวนเอาผิดกับสถานพยาบาล หรือแหล่งที่ลักลอบจำหน่ายหรือจ่ายยาดังกล่าวให้กับกลุ่มเยาวชนแล้ว โดยจะถูกดำเนินคดีทั้งเรื่องการโฆษณา และการขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งมีโทษหนักทั้งโทษปรับและจำคุก
ด้าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ยังฝากถึงผู้ปกครอง หมั่นดูแลบุตรหลานในครอบครัว เพราะยาดังกล่าว มีฤทธิ์ทำให้หมดแรงต่อสู้ จำสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ จึงอาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือก่ออาชญากรรมได้ ซึ่งขณะนี้พบว่า มีกลุ่มวัยรุ่นนำไปเสพเพื่อให้เกิดอาการมึน และอวดลิ้นที่เปลี่ยนเป็นสีฟ้า ขอเตือนว่าผลข้างเคียงอาจอันตรายถึงแก่ชีวิต
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ระบุว่า โรฮิบนอล (Rohypnol) หรือที่เรียกกันว่า ยาลิ้นฟ้า ถือเป็นยาเสียสาวประเภทหนึ่ง มีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา คือ บรรเทาอาการวิตกกังวล สงบประสาท ทำให้นอนหลับ สูญเสียความทรงจำชั่วขณะ คลายกล้ามเนื้อ ต้านการชัก และกดระบบการหายใจ นิยมใช้เป็นยานอนหลับ ยานำสลบ และสงบประสาทก่อนทำการผ่าตัด
ที่ผ่านมามีการนำยานี้ไปใช้ในทางที่ผิดบ่อยครั้ง เช่น ใช้มอมเหยื่อให้หมดแรงต่อสู้ ทำให้จำอะไรที่เกิดขึ้นไม่ได้ หรือมอมเพื่อปลดทรัพย์หรือก่ออาชญากรรม เป็นต้น ปัจจุบันบริษัทที่ผลิตได้เปลี่ยนรูปแบบจากเม็ดกลมขนาดเล็กสีขาวเป็นเม็ดรูปรีขนาดใหญ่สีเขียว เพื่อให้เห็นชัดเจนและง่ายต่อการสังเกต ซึ่งเมื่อนำมาผสมเครื่องดื่มจะเห็นตะกอนของตัวยาตกอยู่ก้นแก้วและเครื่องดื่มก็จะมีสีเขียว
ที่มา :สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองควบคุมวัตถุเสพติด อย.
#ยาเสียสาว #ยาลิ้นฟ้า #โรฮิบนอล #Flunitrazepam #เตือนภัย #SecurityPitch