top of page
  • รูปภาพนักเขียนSarunya Chaiduangsri

Survey Scams ขโมยข้อมูลส่วนบุคคลผ่านแบบสอบถาม


Survey Scams ขโมยข้อมูลส่วนบุคคล ผ่านแบบสอบถาม อีกภัยเงียบที่ต้องระมัดระวังหากไม่อยากให้ข้อมูลสำคัญรั่วไหล


เพื่อพัฒนาบริการ และสินค้าของบริษัท โดยทั่วไปองค์กรส่วนใหญ่มักมีการทำแบบสอบถามความพึงพอใจหลังการให้บริการ หรือหลังการซื้อสินค้า ซึ่งในอดีตมักทำในรูปแบบของกระดาษ หรือให้บุคคลไปสอบถาม ขณะที่ปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้อยู่ในรูปแบบฟอร์มออนไลน์ เพื่อความสะดวกต่อการใช้งาน ให้สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ง่ายขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่า ในทางกลับกันเหล่ามิจฉาชีพก็ใช้ช่องทางนี้ในการขโมยข้อมูลส่วนบุคคลของผู้อื่นได้ด้วยเช่นกัน


ล่าสุด เว็บไซต์ aarp.com โดย American Association of Retired Persons ในสหรัฐฯ ได้ออกมาให้ความรู้ และเตือนเกี่ยวกับ Survey Scams ที่กำลังแพร่ระบาดบนโลกออนไลน์อยู่ในขณะนี้ เนื่องจากในปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ มักใช้วิธีการสร้างแบบสอบถามบนโลกออนไลน์ เพื่อให้ผู้ที่พบเห็นได้เข้ามาตอบแบบสอบถาม แลกกับข้อเสนอที่น่าดึงดูดใจ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าตัวอย่าง สิทธิ์ในการทดลองใช้ผลิตภัณฑ์ฟรี หรือแม้แต่ส่วนลดต่าง ๆ ทำให้มีคนจำนวนมากเข้าไปตอบแบบสอบถาม ทว่าส่วนหนึ่งของแบบสอบถามที่เราพบกันในอินเทอร์เน็ตไม่ได้มาจากองค์กร แต่เป็นฝีมือของมิจฉาชีพที่ต้องการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล หรือหลอกให้เหยื่อคลิกลิงก์แบบสอบถามเพื่อนำไปสู่การดาวน์โหลดมัลแวร์อันตราย มิจฉาชีพเหล่านี้จะมีการปลอมเป็นองค์กร หน่วยงาน หรือแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ กว่าเหยื่อจะรู้ตัวว่าถูกหลอก ก็อาจถูกขโมยข้อมูลที่สำคัญ หรือถูกเข้าถึงข้อมูลผ่านการฝังตัวของมัลแวร์ไปแล้ว


ด้วยเหตุนี้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตจึงควรมีวิธีการระมัดระวังในเรื่องการตอบแบบสอบถามออนไลน์ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ และนี่คือสัญญาณเตือนที่บอกว่าแบบสอบถามที่คุณเข้าไปตอบอาจเป็นแบบสอบถามปลอมจากมิจฉาชีพ


  1. มีการให้ระบุข้อมูลส่วนบุคคล เช่น หมายเลขบัตรประชาชน ข้อมูลบัตรเครดิต หรือรหัสผ่านบัญชี

  2. เนื้อหาในแบบสอบถามใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง หรือมีคำถามที่ไม่เหมาะสม และไม่เกี่ยวข้องกับสินค้า หรือบริการ

  3. ไม่มีการแสดงนโยบายความเป็นส่วนตัว หรือไม่มีการแจ้งถึงจุดประสงค์ในการรวบรวมข้อมูลที่ชัดเจน


ทั้งนี้หากพบแบบสอบถามหลอกลวง ผู้ใช้งานไม่ควรตอบคำถามใด ๆ ลงไป ห้ามคลิกลิงก์ใด ๆ ในเว็บเพจ และรีบออกจากหน้าเว็บไซต์นั้นโดยด่วนที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น หากสามารถทำได้ควรแจ้งไปทางบริษัทที่เป็นเจ้าของแบรนด์ที่แท้จริงเพื่อให้ตรวจสอบ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ผู้อื่นตกเป็นเหยื่อได้


ขอบคุณข้อมูลจาก


aarp.org


ดู 110 ครั้ง0 ความคิดเห็น
โพสต์: Blog2 Post
bottom of page