Sarunya Chaiduangsri
งานวิจัยเผย Smartwatch อาจเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน

#SecurityUpdate | งานวิจัยเผย Smartwatch อาจเพิ่มความเสี่ยงหัวใจวายเฉียบพลัน
สมาร์ตวอทช์ (Smartwatch) ถือเป็นอุปกรณ์ IoT ที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน เพราะนอกจากจะสามารถทำงานควบคู่กับการใช้สมาร์ตโฟนแล้ว นาฬิกาอัจฉริยะเหล่านี้ยังสามารถช่วยติดตามการทำงานของหัวใจ คุณภาพในการนอนหลับ นับจำนวนก้าว หรือแม้แต่ช่วยแจ้งเตือนให้คุณเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ แต่ในคุณสมบัติเหล่านี้ กลับมีการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า นาฬิกาสมาร์ตวอทช์ หรืออุปกรณ์ติดตามการออกกำลังกาย อาจกลายเป็นมัจจุราชคร่าชีวิตผู้ใช้งานได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีการปลูกถ่ายหัวใจมาก่อน
เว็บไซต์ cybernews.com ได้เปิดเผยรายงานล่าสุด จากผลการวิจัยของผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐยูทาห์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ Heart Rhythm ฉบับล่าสุด เกี่ยวกับผลกระทบของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าในอุปกรณ์สมาร์ตวอทช์ และอุปกรณ์ติดตามตัวต่าง ๆ พบว่า คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากอุปกรณ์เหล่านี้สามารถส่งผลอันตรายแก่ผู้ป่วยที่มีการปลูกถ่ายหัวใจ หรือมีการติดเครื่องกระตุ้นหัวใจได้ เนื่องจากคลื่นพลังงานเหล่านี้จะมีการปล่อยกระแสไฟฟ้าออกมาเพียงเล็กน้อยจากอุปกรณ์สวมใส่ ซึ่งสามารถรบกวนการทำงาน ทำให้ระบบเกิดการทำงานที่ผิดพลาด และส่งผลเสียให้ผู้ป่วยที่ติดเครื่องกระตุ้นหัวใจถึงขั้นหัวใจหยุดเต้น หมดสติ และถึงขั้นเสียชีวิตได้
ทั้งนี้การศึกษาดังกล่าวกลายเป็นสัญญาณเตือนที่สำคัญ ที่ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์อาจต้องหันมาให้ความสนใจกับการใช้สมาร์ตวอทช์ของผู้ป่วยโรคหัวใจที่มีติดเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจมากขึ้น เพราะไม่เพียงแต่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจะเข้าไปก่อกวนการทำงานของเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ แต่ยังมีการศึกษาอื่น ๆ พบอีกด้วยว่า ระบบการติดตามการเต้นของหัวใจในสมาร์ตวอทช์ยังอาจให้ผลบวกลวงแก่ผู้สวมใส่ได้ นั่นก็คืออาจทำให้ผู้สวมใส่คิดว่าตัวเองมีอาการเต้นหัวใจผิดจังหวะ เนื่องจากคลื่นพลังงานไฟฟ้าที่ถูกปล่อยออกมากเพียงเล็กน้อย หากถูกปล่อยออกมาเป็นจังหวะอย่างต่อเนื่องก็จะสามารถไปรบกวนอัตราการเต้นของหัวใจได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามก็ยังคงต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม เพื่อหาวิธีป้องกันที่ปลอดภัยสำหรับผู้สวมใส่ต่อไป
ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย ผู้ที่สวมใส่สมาร์ตวอทช์ หรือ อุปกรณ์ติดตามการออกกำลังกายต่างๆ อาจต้องมีการระมัดระวังเรื่องการสวมใส่ให้มากขึ้น โดยควรหลีกเลี่ยงการสวมใส่หากมีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือมีการติดเครื่องกระตุ้นการเต้นของหัวใจ นอกจากนี้ยังไม่ควรสวมใส่ติดตัวตลอดเวลา หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด
ที่มา - cybernews.com