top of page
  • รูปภาพนักเขียนSarunya Chaiduangsri

Security Awareness สร้างการตระหนักรู้ เพื่อองค์กรที่ปลอดภัยในทุกมิติ

#SecurityUpdate | Security Awareness สร้างการตระหนักรู้ เพื่อองค์กรที่ปลอดภัยในทุกมิติ


ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหตุการณ์การโจมตีทางไซเบอร์ได้กลายเป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงขององค์กรใหญ่หลายแห่งทั่วโลก ทำให้หน่วยงานรัฐบาล และภาคเอกชนต่าง ๆ หันมาให้ความสำคัญกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ในองค์กรมากขึ้น ในประเทศไทยเองก็เริ่มมีการตื่นตัว เห็นได้จากการออกมาตรการด้านการรักษาความปลอดภัยที่รัดกุมขึ้น และการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัย หรือ Security Awareness


Security Awareness คืออะไร ?


Security Awareness คือการตระหนักรู้ และเจตคติของพนักงานในองค์กรซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินทางกายภาพ หรือ ทรัพย์สินสารสนเทศ เพื่อให้สมาชิกภายในองค์กรสามารถดูแลรักษา และใช้ทรัพยากรสารสนเทศได้อย่างปลอดภัย มีความระมัดระวัง และป้องกันไม่ให้เกิดอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่ส่งผลต่อทรัพย์สินสารทนเทศขององค์กรได้


ทำไม Security Awareness จึงสำคัญ ?


เหตุที่ Security Awareness ได้กลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าในอดีต นั่นเพราะการเข้าถึงข้อมูล และทรัพย์สินสารสนเทศต่าง ๆ สามารถทำได้ง่าย สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ดังนั้นภัยทางไซเบอร์จึงเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งหากพนักงานในองค์กรไม่มีการตระหนักรู้ด้านความปลอดภัยที่มากเพียงพอ ก็อาจทำให้ข้อมูลสำคัญ หรือ ระบบเครือข่ายขององค์กรเสี่ยงที่จะถูกโจมตี หรือขโมยข้อมูลไปเพื่อใช้ในทางมิชอบได้ ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการฝึกอบรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้กับพนักงานในองค์กร ควบคู่ไปการสร้างมาตรการด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ เพื่อให้ทรัพย์สินสารสนเทศในองค์กรได้รับความปลอดภัยอย่างครบวงจร


Security Awareness ภายในองค์กร เริ่มต้นสร้างได้อย่างไร ?


การสร้าง Security Awareness ถือเป็นสิ่งที่ค่อนข้างใหม่สำหรับหลาย ๆ องค์กร ซึ่งต้องอาศัยเวลา และการให้ความร่วมมือของคนในองค์กร ทั้งนี้จะประสบความสำเร็จได้ต้องอาศัยองค์ประกอบดังต่อไปนี้


1. เนื้อหาความรู้ที่เข้าใจได้ง่าย


เนื้อหาความรู้ด้าน Security Awareness ที่ดี ควรประกอบด้วยเนื้อหาที่สามารถอ่านและเข้าใจได้ง่าย อีกทั้งยังควรมีรูปแบบการเรียนรู้แบบออนไลน์ที่สามารถตอบโต้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเกม หรือกิจกรรมที่เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม เนื่องจากการให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในบทเรียนจะช่วยสร้างความรู้และความเข้าใจได้มากขึ้น


ขณะที่เนื้อหาบทเรียนควรมีระดับความยากง่าย และความซับซ้อนที่แตกต่างกันไปตามตำแหน่งงาน และหน้าที่ของผู้เรียน


2. การติดตามผลอย่างต่อเนื่อง และกระตุ้นเตือนอย่างสม่ำเสมอ


การติดตามผลหลังการฝึกอบรม และกระตุ้นเตือนเกี่ยวกับนโยบายด้านความปลอดภัย และขั้นตอนการรับมือกับภัยทางไซเบอร์ให้กับพนักงานในองค์กรอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยให้พนักงานในองค์กรมีความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัย และสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยง ตลอดจนจัดการกับปัญหาด้านความปลอดภัยได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นจากภัยทางไซเบอร์


3. การทดสอบความรู้ความเข้าใจ


สำนวนที่ว่า Practice makes perfect เป็นสิ่งที่สามารถใช้ได้อยู่เสมอ ดังนั้นการจะทำให้ Security Awareness เกิดขึ้นจริงในองค์กร อาจเลือกใช้วิธีการทดสอบความตระหนักรู้ด้านความปลอดภัย ด้วยการจำลองสถานการณ์การโจมตีทางไซเบอร์ เพื่อวัดความรู้ และความเข้าใจเรื่อง Security Awareness ของพนักงานในองค์กร อีกทั้งยังช่วยให้พนักงานในองค์กร โดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง สามารถรับมือกับภัยทางไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย


4. การวัดผลหลังเสร็จสิ้นการอบรม


เมื่อจบโครงการอบรมแล้ว ควรมีการวัดผลที่ชัดเจน และสามารถระบุได้ว่าพนักงานในองค์กรแต่ละคนมีจุดแข็ง และจุดอ่อนเกี่ยวกับ Security Awareness อย่างไรบ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อให้พนักงานได้รู้ และสามารถหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อปิดจุดอ่อนเหล่านั้นได้อย่างเป็นระบบ


ข้อดีของการมี Security Awareness ในองค์กร


1. สร้างวัฒนธรรมด้านความปลอดภัยที่ดีให้กับองค์กร


การมี Security Awareness ภายในองค์กร จะช่วยปลูกฝังนิสัยที่ดีด้านความปลอดภัย ทั้งทางกายภาพ และทางไซเบอร์ อีกทั้งยังช่วยให้เกิดความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อสร้างองค์กรที่มีความปลอดภัยอย่างครบวงจรในทุกมิติ


2. ลดความเสียหายของทรัพย์สินในองค์กร


การที่พนักงานในองค์กรมีการตระหนักรู้ด้านความปลอดภัย จะช่วยให้พนักงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม มีความรอบคอบ และระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ได้


3. ป้องกันไม่ให้องค์กรเกิดการหยุดชะงัก


เมื่อเกิดการโจมตีทางไซเบอร์ ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม สิ่งที่องค์กรต้องพบเจอตามมาก็คือ การต้องหยุดการทำงานทั้งหมดของระบบไซเบอร์ภายในองค์กร เพื่อตรวจสอบ และแก้ไข ซึ่งอาจทำให้เสียเวลา และเสียโอกาสไปได้อย่างมหาศาล ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดการโจมตีทางไซเบอร์ก็จะช่วยให้องค์กรสามารถทำงานต่อไปได้อย่างราบรื่น


4. เกิดความสำนึกร่วม


การสร้าง Security Awareness ที่ดีไม่เพียงแต่จะช่วยให้องค์กรมีความปลอดภัยมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยทำให้พนักงานในองค์กรมีความหวงแหน และระมัดระวังมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นให้พนักงานมีสำนึกที่ดีร่วมกันในการป้องกันภัยทางไซเบอร์ที่อาจเกิดขึ้นได้


5. มีการร่วมเฝ้าระวัง และส่งต่อข้อมูลความปลอดภัยไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง


เมื่อพนักงานในองค์กรมีการตระหนักรู้เรื่องความปลอดภัยแล้ว ก็จะปลูกฝังนิสัยให้มีการเฝ้าระวังมากขึ้น เมื่อพบเห็นความเสี่ยงด้านความปลอดภัยขึ้นภายในองค์กรก็จะไม่นิ่งเฉย แต่จะรีบส่งข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงนั้นให้กับผู้มีหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อหาสาเหตุ และหาทางป้องกันต่อไป


6. พนักงานมีความเข้าใจที่ตรงกัน


บางองค์กรที่มีสำนักงานอยู่ในหลาย ๆ พื้นที่อาจมีการตีความเรื่องนโยบายด้านความปลอดภัยที่แตกต่างกัน แต่การฝึกอบรม และสร้าง Security Awareness ให้กับคนภายในองค์กร จะช่วยให้พนักงานรับรู้นโยบายไปในทิศทางเดียวกัน และสามารถปฎิบัติตามได้อย่างถูกต้อง


7. เกิดการปฎิบัติตาม


การสร้าง Security Awareness ไม่ได้ส่งผลให้พนักงานในองค์กรมีความรู้สึกร่วมในการป้องกันความปลอดภัยเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้พนักงานปฎิบัติตามกฎ และนโยบายด้านความปลอดภัยขององค์กรมากขึ้น สิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นทางด้านความปลอดภัยที่ดีที่สุด


8. สร้างความน่าเชื่อถือให้กับองค์กร


Security Awareness ในองค์กรเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถสะท้อนให้บุคคลภายนอกได้เห็นว่าองค์กรมีการเตรียมพร้อมรับมือกับอันตรายทั้งทางกาย และไซเบอร์ ซึ่งจะส่งผลดีให้เกิดความเชื่อมั่น และความน่าเชื่อถือ อีกทั้งการสร้างให้พนักงานในองค์กรมีการตระหนักเรื่องความปลอดภัยยังเป็นพื้นฐานสำคัญที่ทำให้องค์กรเกิดความยั่งยื่นได้ด้วยเช่นกัน


การตระหนักรู้ด้านความปลอดภัย เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนในองค์กรในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอำนวยการ หรือฝ่ายปฎิบัติการ เพราะความปลอดภัยจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลยหากคนในองค์กรไม่ร่วมมือกันอย่างเป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันก็จะไม่สามารถพัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ฉะนั้นหากองค์กรของคุณยังไม่มีการสร้าง Security Awareness ควรรีบทำตั้งแต่วันนี้ เพื่อที่อนาคตไม่ว่าภัยจะมาในรูปแบบใด องค์กรของคุณก็จะมีมาตรการที่พร้อมรับมือ ช่วยให้การบริหารจัดการองค์กรเดินต่อไปได้อย่างมั่นคง


ขอบคุณข้อมูลจาก



ดู 24 ครั้ง0 ความคิดเห็น
โพสต์: Blog2 Post
bottom of page