top of page
  • รูปภาพนักเขียนSarunya Chaiduangsri

สรุปสาระสำคัญ พรก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ พ.ศ. 2566



คลอดแล้ว! พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 กฎหมายตัดตอน บัญชีม้า และป้องกันปัญหาการหลอกลวงจากคอลเซ็นเตอร์ ให้สิทธิ์หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการระงับบัญชีที่สอบสวนได้อย่างทันท่วงที


เมื่อวันที่ 16 มีนาคมที่ผ่านมา เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้ออกประกาศ พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 โดยมีสาเหตุเพื่อคุ้มครองประชาชนที่ถูกหลอกลวงจนสูญเสียเงินและทรัพย์สิน โดยผ่านโทรศัพท์หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากในแต่ละวันมีผู้ที่ถูกหลอกลวงในโอนเงิน หรือ ให้ข้อมูลการเงินไป จนทำให้มีมูลค่าความสูญเสียเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเพื่อการแก้ปัญหาอย่างเด็ดขาดจึงต้องมีการกำหนดมาตรการในการปราบปรามอาชญากรรมเหล่านี้อย่างรวดเร็ว และทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยและช่วยแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ส่งผลจากกระบวนการหลอกลวงเหล่านี้


ทั้งนี้พระราชกำหนดมาตรการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฉบับนี้ ได้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 17 มีนาคม 2566 โดยมีสาระสำคัญดังนี้


พรก. ระบุว่า เพื่อป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า อาจมีการกระทำความผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจสามารถเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจนั้นผ่านระบบ หรือ กระบวนการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และธนาคารแห่งประเทศไทย โดยจะต้องมีความเห็นชอบร่วมกัน ไม่เพียงเท่านั้น เพราะผู้ที่ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ผู้ให้บริการ โทรคมนาคมอื่น หรือผู้ให้บริการอื่นที่เกี่ยวข้อง ยังสามารถเปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลการให้บริการที่เกี่ยวข้องระหว่างกันผ่านระบบ หรือกระบวนการเปิดเผย หรือแลกเปลี่ยนข้อมูลที่กระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่เห็นชอบร่วมกันได้ และเมื่อมีการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้ว ผู้ที่เปิดเผยจะต้องแจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินให้ทราบโดยทันที เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ต่อ


ขณะที่ในมาตรา 5 ของ พรก. ยังได้มีการระบุว่า หากมีหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่ามีการกระทำความผิดทางอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และมีความจำเป็นต้องการทราบข้อมูลการลงทะเบียนผู้ใช้งาน หรือ ข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ ก็ยังให้อำนาจหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสืบสวนคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สามารถสั่งการให้ผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ หรือบริการโทรคมนาคม และผู้ให้บริการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำดังกล่าวเปิดเผยข้อมูลได้เท่าที่จำเป็น และผู้ให้บริการเหล่านี้ก็จะต้องส่งข้อมูลดังกล่าวตามระยะเวลาที่หน่วยงานกำหนดอีกด้วย


ส่วนเรื่องการให้อำนาจสถาบันการเงิน มาตรา 6 ของ พรก. ฉบับนี้ก็ได้มีการระบุไว้ว่าหากสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุที่สงสัยได้ว่ามีบัญชีเงินฝาก หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ของลูกค้าสถาบันการเงินใด อาจถูกนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือกระทำความผิดตามฐานกฎหมายฟอกเงิน สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจสามารถระงับการทำธุรกรรม และสถาบันการเงิน หรือผู้ให้บริการที่รับโอนได้ทันที และสามารถนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ หรือเปิดเผยเพื่อแลกเปลี่ยนให้สถาบันการเงินที่รับโอนทุกทอดทราบ โดยในการระงับการทำธุรกรรมนั้นสามารถระงับไว้ได้ชั่วคราวไม่เกิน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่พบเหตุสงสัย หรือได้รับแจ้ง เพื่อตรวจสอบและแจ้งให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินคดีตรวจสอบ หากสถาบันการเงินเป็นผู้ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ สถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจก็จะต้องนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ หรือทำการเปิดเผยกับฝ่ายที่รับโอนตามที่ได้รับคำสั่งมาด้วย


และหากตรวจสอบแล้วมีการพบว่า บัญชีเงินฝาก หรือบัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการระงับการทำธุรกรรมนั้นถูกนำไปใช้ในการกระทำความผิดจริง ก็ให้ผู้ที่มีอำนาจในการดำเนินคดีสามารถดำเนินคดีได้ทันทีภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้งการระงับการทำธุรกรรม หรือถ้าหากไม่พบหลักฐานที่เชื่อได้ว่ามีการนำบัญชีไปใช้ในการกระทำความผิด ก็จะต้องแจ้งผลตรวจสอบกลับไปยังสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจเพื่อยกเลิกการระงับธุรกรรมต่อไปแล้ว แต่ถ้าหากไม่มีการแจ้งกลับไปยังสถาบันการเงินภายใน 7 วันหลังจากได้รับแจ้งเหตุ สถาบันการเงินก็สามารถยกเลิกการระงับการทำธุกรรมได้เลยโดยไม่ต้องรอคำสั่ง


ในฝั่งของการช่วยเหลือผู้เสียหาย หากสถาบันการเงินได้รับแจ้งจากผู้เสียหายที่เป็นเจ้าของบัญชีว่า ได้มีการทำธุรกรรมที่อาจเข้าข่ายเกี่ยวข้องการอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ก็ให้สถาบันการเงินสามารถระงับธุรกรรมนั้นไว้ได้ชั่วคราว และนำข้อมูลเข้าสู่ระบบ และเปิดเผยให้กับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้เสียหายไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวยภายใน 72 ชั่วโมง และเมื่อพนักงานสอบสวนได้รับการร้องทุกข์แล้ว จะต้องทำการสอบสวนภายใน 7 วัน และหากไม่มีการสั่งระงับการทำธุรกรรมต่อหลังจากครบ 7 วันแล้ว สถาบันการเงินสามารถยกเลิกการระงับการทำธุรกรรมเหล่านั้นได้ทันที


ขณะที่การแจ้งความร้องทุกข์คดีที่เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีจะกระทำต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจ กองบัชญาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญกรรมทางเทคโนโลยี หรือร้องเรียนทางอิเล็กทรอนิกส์ก็สามารถทำได้ โดยให้ถือว่าเป็นการร้องทุกข์โดยชอบธรรม และในการสอบสวน พนักงงานสอบสวนที่รับคำร้องทุกข์จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินคดีไม่ว่าคดีดังกล่าวจะเกิดขึ้นที่ใด โดยกฎหมายข้อนี้ถือว่าช่วยลดปัญหาที่ผู้เสียหายมักถูกปฏิเสธการรับแจ้งความเมื่อเกิดเหตุด้วยเหตุผลที่ว่าเหตุไม่ได้เกิดในพื้นที่ ซึ่งเป็นวิธีการอำนวยการความสะดวกให้กับผู้เสียหาย


ส่วนในเรื่องของการระบุโทษของผู้กระทำผิด ใน พรก.ฉบับนี้ ก็ได้มีการระบุโทษไว้ดังต่อไปนี้

  • ผู้ที่เปิด หรือยินยอมให้ผู้อื่นนำบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับตัวเอง รวมไปถึงผู้ที่ยินยอมให้นำหมายเลขโทรศัพท์ไปใช้ โดยรู้ว่านำไปใช้เพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีหรือความผิดอาญาใด ๆ จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • ผู้ที่มีธุระจัดหา โฆษณา หรือประกาศใด ๆ เพื่อให้มีการขาย ให้เช่า ให้ยืมบัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอกนิกส์ไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จะมีโทษจำคุก 2-5 ปี ปรับตั้งแต่ 2 - 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  • ผู้ที่มีธุระจัดหา โฆษณา หรือประกาศใด ๆ เพื่อให้มีการขาย ให้เช่า ให้ยืมหมายเลขโทรศัพท์ ที่มีการลงทะเบียนแล้วไปใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จะมีโทษจำคุก 2-5 ปี ปรับตั้งแต่ 2 - 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


พระราชกำหนดฉบับนี้ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ถูกตราขึ้น เพื่อใช้ในการแก้ปัญหาซิมผี บัญชีม้า ซึ่งเป็นเครื่องมือของเหล่าอาชญากร เพื่อใช้ในการหลอกลวงเหยื่อให้โอนเงิน หรือยอมให้ข้อมูลส่วนบุคคลที่สำคัญ ซึ่งในอดีตมีความล่าช้า เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่มีอำนาจเพียงพอในการระงับกิจกรรมที่น่าสงสัย และกว่าจะสามารถระงับการทำธุรกรรมแล้วก็ช้าไม่ทันการณ์ และเมื่อมีกฎหมายฉบับนี้แล้วก็มีความคาดหวังว่าเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถสืบสวนสอบสวนและติดตามไปยังต้นทางของขบวนการหลอกลวง พร้อมทั้งสามารถลดความเสี่ยงจากการหลอกลวง ด้วยการใช้ซิมผี หรือบัญชีม้าได้



ดู 42 ครั้ง0 ความคิดเห็น
โพสต์: Blog2 Post
bottom of page