Sarunya Chaiduangsri
วิเคราะห์เหตุจูงใจ คน ๆ หนึ่งก่อเหตุกราดยิงเพราะเหตุใด
#SecurityUpdate | วิเคราะห์เหตุจูงใจ ทำไมคน ๆ หนึ่งจึงก่อเหตุกราดยิง

นับเป็นเหตุสะเทือนขวัญคนไทยทั้งประเทศ เมื่อเกิดเหตุการณ์กราดยิงขึ้นอีกครั้งที่ศูนย์เด็กเล็ก ในจังหวัดหนองบัวลำภู เมื่อช่วงบ่ายที่ผ่านมา (6 ต.ค. 2565) จนทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 30 ราย ซึ่งหากนับจากเหตุการณ์ครั้งใหญ่ในบ้านเรา นี่ถือเป็นเหตุกราดยิงครั้งที่ 4 ที่เกิดขึ้นในปีนี้
แม้ว่าเหตุการณ์กราดยิงในประเทศไทยจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนัก หากเทียบกับในต่างประเทศ แต่ทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ก็มักจะทำให้เกิดการสูญเสียเป็นจำนวนมาก และความน่ากลัวของเหตุการณ์นี้คือ ผู้ก่อเหตุมักจะเป็นบุคคลที่ไม่คาดคิด และไม่มีสัญญาณใดเป็นลางบอกเหตุแม้แต่น้อย อีกทั้งผู้ก่อเหตุส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ประสงค์ต่อทรัพย์สิน แต่ประสงค์จะทำเพื่อตอบสนองแรงจูงใจบางอย่าง โดยในบางครั้งแทบไม่เกี่ยวข้องกับผู้เสียชีวิต
ทั้งนี้มีการศึกษาทั้งจากใน และต่างประเทศมากมาย เอ่ยถึงสาเหตุของการกราดยิง และแรงจูงใจในการก่อเหตุ เช่น การศึกษาเกี่ยวกับแรงจูงใจในการก่อความรุนแรง โดย รศ.ดร.สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต นักจิตวิทยาการปรับพฤติกรรม อดีตคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งได้อธิบายว่า พฤติกรรมการก่อความรุนแรงนั้นไม่ได้เกิดจากพฤติกรรมการเลียนแบบเสมอไป อีกทั้งยังสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะในปัจจุบัน สังคมมีแต่ความเร่งรีบ คนมีความอดทนน้อยลง มีความใจร้อนมากขึ้น ทำให้มีนิสัยรุนแรง และแสดงออกทางพฤติกรรมที่รุนแรง และเมื่อมีสื่อนำเสนอเหตุการณ์ หรือวิธีการก่อความรุนแรง ก็จะยิ่งไปกระตุ้นให้ผู้ร้ายก่อเหตุได้ง่ายขึ้น
ในการก่อเหตุความรุนแรง บุคคลที่มีแนวโน้มจะก่อความรุนแรงมักเป็นคนที่มองโลกในแง่ร้าย รู้สึกว่าตัวเองถูกกระทำ หรือไม่ได้รับความสนใจ และการยอมรับจากสังคม
ขณะที่ ดร.นัทธี จิตสว่าง นักอาชญาวิทยา อดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ได้อธิบายว่า จากสถิติในต่างประเทศ ผู้ก่อเหตุกราดยิงในที่สาธารณะส่วนใหญ่มักจะมีพฤติกรรมเก็บตัวโดดเดี่ยว ไม่สุงสิงกับผู้อื่น หรือมีเหตุการณ์ฝังใจเกี่ยวกับความรุนแรงตั้งแต่ในวัยเด็ก ได้รับความกดดันจากในโรงเรียน หรือ ที่ทำงาน และอาจมีรสนิยมชอบความรุนแรง หรือ มีการคลุกคลีกับความรุนแรงมาตลอด
เช่นเดียวกับผลสำรวจจาก The Violence Project ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับอาชญากร ที่ระบุว่า ความเจ็บปวดในวัยเด็กเป็นจุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ความรุนแรงส่วนใหญ่ และสิ่งที่ผลักให้ผู้ร้ายทำการก่อเหตุคือความสิ้นหวัง ความเกลียดชังในตัวเอง การตัดขาดจากผู้คน หรือ โดนขับไล่ออกจากสังคม และหากไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที สิ่งเหล่านี้ก็อาจจะกระตุ้นให้พวกเขาก่อเหตุร้าย ไม่ว่าจะเป็นการจบชีวิตตัวเอง หรือ นำความเกลียดชังที่มีใช้เป็นแรงผลักดันในการทำร้ายผู้อื่น
เหตุการณ์กราดยิงในไทย เกิดจากอะไร ?
จากเหตุกราดยิงในประเทศที่ผ่านมาหลาย ๆ ครั้ง มีการนำเสนอว่า สาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดเหตุร้ายมักเกิดขึ้นจากการความโกรธแค้น ไม่ได้รับความยุติธรรมจากหน่วยงาน หรือจากสังคมที่ตัวเองอาศัยอยู่ กลายเป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้ก่อเหตุ ทั้งนี้ยังรวมถึงอาจเกิดจากการใช้ยาเสพติด หรือความผิดปกติทางจิต
นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่ผลักดันให้ก่อเหตุกราดยิงในบ้านเรามากขึ้น อาจเกิดจากการที่สามารถครอบครองปืนได้ง่าย โดยมีสถิติพบว่า จำนวนของผู้ครอบครองปืนในประเทศไทยมีสัดส่วนที่สูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน โดยยังไม่รวมการครอบครองปืนเถื่อนที่มีการซื้อขายอย่างผิดกฎหมาย
เหตุการณ์กราดยิง ป้องกันได้อย่างไร ?
จากข้อมูลต่าง ๆ ที่นำเสนอ เหตุการณ์กราดยิงมักเกิดถูกเตรียมการไว้ล่วงหน้า และผู้ก่อเหตุจะต้องพบเจอกับเหตุการณ์ที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้ตัดสินใจก่อเหตุมาแล้วอย่างน้อยระยะหนึ่ง ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์กราดยิงอาจต้องเริ่มจัดการตั้งแต่ต้นเหตุ โดยควรมีการเข้าถึงบุคคลที่มีความเสี่ยงจะก่อความรุนแรง เพื่อได้รับการรักษาปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต โดยการเปิดใจรับฟัง ไม่มีอคติ ไม่ตัดสิน และมีความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น แม้ว่าวิธีเหล่านี้จะไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่ก็สามารถช่วยให้ผู้ที่มีปัญหารู้สึกว่าตนเองไม่ได้ถูกทอดทิ้ง หรือถูกตัดขาดจากสังคม และแสดงให้เห็นว่าปัญหาที่พบสามารถแก้ไขได้ โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรง
นอกจากนี้ การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ก็เป็นอีกปัจจัยที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์กราดยิงในอนาคตได้เช่นกัน โดยสิ่งสำคัญก็คือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้คนว่า เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ใช่สิ่งที่ควรลอกเลียนแบบ หนึ่งในนั้นคือการรณรงค์ไม่ให้เอ่ยถึงชื่อ หรือประวัติของผู้ก่อเหตุ เพื่อไม่ให้เห็นว่าการก่อเหตุดังกล่าวเป็นการทำให้ผู้ก่อเหตุมีชื่อเสียง ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันพฤติกรรมการลอกเลียนแบบ
สุดท้ายนี้สิ่งที่ต้องตระหนักอย่างมากก็คือ การป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อีก เพราะเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดการสูญเสีย ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนทุกฝ่ายที่ต้องเฝ้าระวัง เพื่อไม่ให้เหตุซ้ำรอยและการสูญเสีย เกิดกับใครอีก
ขอบคุณข้อมูลจาก - the matter
- washingtonpost
- จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย