Sarunya Chaiduangsri
อิแทวอน จากความรื่นเริงสู่โศกนาฏกรรม เรียนรู้การรับมือเมื่อเกิดอุบัติภัยหมู่
อัปเดตเมื่อ 30 พ.ย. 2565

#SecurityUpdate | อิแทวอน จากความรื่นเริงสู่โศกนาฏกรรม เรียนรู้การรับมือเมื่อเกิดอุบัติภัยหมู่
อุบัติภัยหมู่ครั้งใหญ่ที่เกิดล่าสุดในย่านอิแทวอน ย่านท่องเที่ยวกลางคืนชื่อดังของเกาหลี ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่าสูงกว่า 150 คน บาดเจ็บมากกว่า 80 คน เป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะนอกจากจะทำให้เกิดความสูญเสียในวงกว้างแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่อาจเกิดแผลใจไปในระยะยาว ทว่าอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดา หรือป้องกันได้อย่าง 100% ดังนั้นการเตรียมพร้อมรับมือกับอุบัติภัยหมู่จึงเป็นสิ่งที่จะสามารถช่วยให้คุณพ้นจากอันตรายได้ วันนี้ Security Pitch จะพาไปทำความเข้าใจกับคำว่าอุบัติภัยหมู่ เรียนรู้วิธีการรับมือ และการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์เช่นนี้กัน
เหตุการณ์อุบัติภัยหมู่ (Mass casualty incident, MCI) คือ เหตุการณ์ที่มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยจะเป็นเหตุการณ์ที่มีผู้ประสบเหตุรวมกันมากกว่า 3 คนขึ้นไป และต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างฉุกเฉิน ต้องระดมกำลังความช่วยเหลือจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าช่วยเหลือให้ทันการณ์ ซึ่งหัวใจสำคัญของการช่วยเหลือจากเหตุการณ์อุบัติภัยหมู่คือ ในการช่วยเหลือจะเน้นไปที่ผู้ป่วยที่มีโอกาสรอดมากที่สุดเป็นอันดับแรก และต้องใช้เวลารวมไปถึงทรัพยาการในการช่วยเหลือที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่ามากที่สุด
สำหรับเหตุการณ์ที่อิแทวอนนั้น ถือเป็นอุบัติภัยหมู่แบบฝูงชนถล่ม (Crowd collapses and crushes) เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนจำนวนมาก โดยเหตุการณ์ประเภทนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้ง โดยเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ที่สุดก็คือเหตุการณ์อุโมงค์เมกกะในประเทศซาอุดิอาระเบียในปี ค.ศ. 1990 ที่มีผู้เสียชีวิตสูงกว่า 1,500 คน
ด้าน CNN ได้มีการวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ฝูงชนถล่มว่า สัญญาณอันตรายแสดงถึงการเกิดเหตุอุบัติภัยหมู่นั้นมักจะเกิดขึ้นเมื่อมีคนอยู่รวมกัน 6 คน ต่อ 1 ตารางเมตร เพราะเมื่อพื้นที่ในการยืนต่อคนลดน้อยลงจนทำให้ร่างกายสัมผัสกัน พลังงาน และความหนาแน่นของคนก็มักจะทำให้เกิดปรากฎการณ์ ทุ่งข้าวสาลี (Field of wheat effect) ที่ผู้คนจะโอนเอนตัวไปอย่างควบคุมไม่ได้ ซึ่งหากมีคนใดคนหนึ่งล้มลง ก็อาจทำให้เกิดการล้มตามกัน จนกลายเป็นอุบัติเหตุได้
ทั้งนี้ นอกจากการเข้าช่วยเหลือผู้ประสบเหตุอย่างทันท่วงทีแล้ว ระบบการแจ้งเตือนเหตุก็เป็นสิ่งที่สำคัญด้วยเช่นกัน ซึ่งจากเหตุการณ์ล่าสุดในอิแทวอน ประเทศเกาหลีใต้ ก็ได้มีระบบการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินขึ้น โดยเป็นการแจ้งเตือนผ่านข้อความ Cell Broadcast ที่ส่งตรงถึงโทรศัพท์มือถือของประชาชนโดยตรง ระบบนี้มีชื่อว่า Korean Public Alert Service เป็นระบบที่มีแล้วในหลายประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น (J-Alert), ไต้หวัน (Public Warning System) ฟิลิปปินส์ (ECBS) และประเทศอื่น ๆ อีก 10 กว่าประเทศทั่วโลก จากข้อมูลระบุว่าประเทศฝรั่งเศส เป็นประเทศล่าสุดที่มีการประกาศใช้ระบบนี้ อ่านต่อ - ฝรั่งเศสประกาศใช้ “FR-Alert” แจ้งเตือนเมื่อมีภัยอันตรายใกล้ตัว

อย่างไรก็ตามในประเทศไทยยังไม่มีการนำระบบนี้มาใช้อย่างเป็นทางการ แต่ก็มีการนำระบบที่คล้ายคลึงกันมาใช้ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติ อย่างที่เห็นได้ในเหตุการณ์พายุโนรูที่ผ่านมา
อุบัติภัยหมู่ ฝูงชนถล่ม เอาตัวรอดอย่างไร ?
ฝูงชนถล่ม เป็นเหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดา หรือป้องกันได้ ตราบใดที่ยังมีการรวมตัวของคนจำนวนมาก ดังนั้นการเรียนรู้การรับมือจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยในการเอาตัวรอดกับเหตุการณ์ฝูงชนถล่มควรปฏิบัติตนดังนี้
1. มองหาทางออกฉุกเฉิน ก่อนเข้าไปยังสถานที่ที่มีผู้คนอยู่รวมกันมาก ๆ หากเป็นสถานที่ปิดควรมองหาทางออกฉุกเฉินก่อนเป็นอันดับแรก หรือหากเป็นสถานที่เปิดก็ควรมองหาทางออกอื่น ๆ ด้วย เพราะธรรมชาติของคน เมื่อเกิดเหตุร้ายแรงมักจะพยายามหนีด้วยการวิ่งไปยังทางที่เข้ามา ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อการหกล้มจนโดนทับ หรือโดนเหยียบได้
2. ประเมินสถานการณ์ ก่อนเข้าไปในบริเวณงานควรสังเกตเหตุการณ์โดยรอบให้ดีเสียก่อนว่ามีความผิดปกติ หรือเสี่ยงต่ออุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดหรือไม่ หากเดินเข้าไปแล้ว ไม่ควรไปรวมอยู่กับกลุ่มคน แต่ควรกระจายตัวออกไปอยู่บริเวณที่ว่างอยู่ เพื่อลดความเสี่ยง
3. ตั้งสติ หากเข้าไปภายในสถานที่ที่มีการแออัดของคนแล้วรู้สึกว่าเริ่มมีเหตุการณ์ไม่ปกติ หรือเริ่มรู้สึกอึดอัดจนหายใจไม่ออก สิ่งแรกที่ทำควรตั้งสติให้ดี และรีบนำตัวเองออกมาจากสถานที่ดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
4. ใช้การสื่อสารด้วยมือ เมื่อตั้งสติได้แล้วคุณควรสื่อสารกับคนรอบข้างด้วยภาษามือ เพราะส่วนใหญ่แล้วเมื่อเกิดเหตุการณ์ฝูงชนถล่มก็มักจะมีเสียงที่ดังและอื้ออึงจนอาจทำให้สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง หากใช้การพูดก็อาจทำให้สื่อสารได้ไม่รู้เรื่อง
5. ทรงตัวให้ดี หากไม่สามารถออกมาจากสถานที่เกิดเหตุได้ สิ่งที่สำคัญ และจะช่วยให้คุณรอดได้นอกจากการตั้งสติแล้ว ก็คือการทรงตัว และพยายามลืมตามองไว้เสมอ เพราะถ้าหากคุณเกิดการเซ และล้มลงไป อาจทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
6. ยืดตัว และควบคุมการหายใจ เมื่อสามารถทรงตัวได้แล้ว ควรยืดตัวออกเพื่อให้สามารถหายใจได้สะดวก และควบคุมการหายใจให้เป็นปกติมากที่สุด
7. ตั้งการ์ด การยกแขนขึ้นมาไว้ระดับอกจะช่วยป้องกันอวัยวะบริเวณทรวงอก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบบการหายใจ โดยควรยกแขนตั้งการ์ดให้ห่างจากร่างกายเล็กน้อยเพื่อให้สามารถหายใจได้สะดวก
8. อย่าฝืน ในกรณีที่มีฝูงชนหนาแน่น วิธีที่จะช่วยให้รอดพ้นจากเหตุการณ์ได้คือการไม่ฝืนร่างกายตัวเอง และปล่อยให้ไหลไปตามการเคลื่อนไหวของฝูงชน แต่ในขณะเดียวกันก็จะต้องทรงตัวให้ดี อย่าพยายามดันตัวเองสวนทิศทาง เพราะอาจทำให้คุณล้มและเป็นอันตรายได้
9. หลีกเลี่ยงกำแพง และรั้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งคือ หากคุณต้องไหลไปตามฝูงชน ควรหลีกเลี่ยงไม่ให้ตัวเองเข้าไปอยู่ใกล้กับกำแพง หรือรั้ว เนื่องจากอาจทำให้คุณถูกเบียด และให้ผลลัพธ์ไม่ต่างจากการล้ม และถูกเหยียบ
10. หากล้ม อย่าตื่นตระหนก ควรรีบลุกให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าหากไม่สามารถลุกได้ควรรีบขดตัวเพื่อป้องกันการถูกเหยียบไปยังบริเวณที่สำคัญของร่างกาย และยกแขนป้องกันศีรษะของตัวเองให้มากที่สุด จากนั้นพยายามลุกขึ้นให้ได้ทันทีที่มีโอกาส
11. หากมีคนรอบข้างที่ล้มลง สิ่งแรกที่คุณควรทำคือพยายามทรงตัวให้ดีที่สุด จากนั้นควรรีบบอกให้เพื่อยกแขนขึ้น จากนั้นรีบคว้ามืออีกฝ่ายไว้และรีบขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น
ทั้งนี้หากเหตุการณ์คลี่คลาย ฝูงชนเริ่มสลายตัวแล้ว หากคุณพบว่ามีคนที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้ควรรีบเข้าไปให้ความช่วยเหลือ โดยหากผู้บาดเจ็บไม่หายใจ ควรรีบทำ CPR ด้วยมือ หรือถ้าหากมีเลือดออกควรรีบหยุดเลือดให้เร็วที่สุด และพยายามพูดคุยกับผู้บาดเจ็บเพื่อให้รู้สึกตัวตลอดเวลาจนกว่าการช่วยเหลือจะมาถึง
นี่คือวิธีในการเอาตัวรอดเมื่อเกิดเหตุการณ์ฝูงชนถล่ม ซึ่งควรเรียนรู้ไว้ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงเข้าไปยังสถานที่ที่มีคนแออัดได้ แต่ถ้าหากหลีกเลี่ยงได้ก็ไม่ควรอยู่ในบริเวณที่มีคนแออัดมาก ๆ จะดีที่สุด เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง
และนอกเหนือจากการเรียนรู้การป้องกันตัวเองให้พ้นจากเหตุการณ์เหล่านั้นแล้ว บรรดาหน่วยงาน และองค์กรต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของสถานที่ หรือเป็นผู้จัดงาน ก็ควรจะมีการวางแผนรับมือในกรณีที่เกิดเหตุด้วย ควรจัดเตรียมคน และทรัพยากรต่าง ๆ ให้พร้อม เนื่องจากอุบัติเหตุเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ควรประมาท หรือชะล่าใจคิดเพียงต้องการประหยัดงบประมาณ เพราะหากเกิดเหตุขึ้นนอกจากจะไม่คุ้มกับสิ่งที่เสียไปแล้ว ก็อาจกลายเป็นคดีความ ทำลายความเชื่อมั่นจากประชาชนไปได้อย่างถาวร
ขอบคุณข้อมูลจาก