top of page
  • รูปภาพนักเขียนSarunya Chaiduangsri

ครม. อนุมัติกฏหมายปราบปรามอาชญากรรมบัญชีม้า วางโทษปรับสูงสุด 500,000 บาท


#SecurityUpdate | ครม. อนุมัติกฏหมายปราบปรามอาชญากรรมบัญชีม้า วางโทษปรับสูงสุด 500,000 บาท


คณะรัฐมนตรีเห็นชอบผ่านร่างพระราชกำหนดปราบปรามและป้องกันบัญชีม้า ระบุโทษปรับสูงสุด 500,000 บาท จำคุกสูงสุด 5 ปี หวังลดอาชญากรรมความเสียหายกรณีฉ้อโกงออนไลน์

เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบผ่านร่างพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเสนอเรียบร้อยแล้ว โดยพระราชกำหนดดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อช่วยคุ้มครองประชาชนในกรณีที่เกิดเหตุอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างเร่งด่วน และทันท่วงที

สาระสำคัญของพระราชกำหนดดังกล่าว คือ การกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการหลอกลวงประชาชนผ่านทางโทรศัพท์ และวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์อื่น ๆ รวมไปถึงบทลงโทษแก่ผู้ที่เปิดบัญชีบัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำเงินหรือทรัพย์สินมาใช้ในการกระทำความผิดทางอาญา หรือที่เรียกกันว่า บัญชีม้า ซึ่งหลังจากการผ่านร่างพระราชกำหนดแล้ว จะมีการส่งร่างดังกล่าวต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณา ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด

พระราชกำหนดดังกล่าวยังได้มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และกรรมการโดยตำแหน่ง รวม 8 คน และมีขั้นตอนในการระงับการทำธุรกรรม ดังนี้

  • กรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุการณ์น่าสงสัย หรือได้รับแจ้งจากเจ้าหนักงาน ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจทำการระงับธุรกรรมดังกล่าว และแจ้งไปยังสถาบันการเงิน หรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนเพื่อระงับการทำธุรกรรมต่อไปเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะตรวจสอบแล้วไม่พบเหตุสงสัยหรือความผิดปกติ

  • หากเป็นกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้แจ้งเหตุ ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจรีบระงับการทำธุรกรรม และแจ้งให้ปลายทางรับทราบ และระงับธุรกรรมทั้งหมดทันที เพื่อให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายใน 48 ชั่วโมง และให้พนักงานทำการสอบสวนเกี่ยวกับบัญชี หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้น ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่ได้รับแจ้ง

ทั้งนี้การแจ้งข้อมูล หรือ หลักฐาน สามารถแจ้งผ่านทางโทรศัพท์ หรือวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ขณะที่กรณีแจ้งทางโทรศัพท์ให้ผู้ระงับการทำธุรกรรมบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรและส่งให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบ เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานสำหรับการตรวจสอบในภายหลัง

ส่วนในเรื่องบทลงโทษทางกฏหมาย แบ่งเป็นทั้งหมด 2 กรณี คือ

  1. ห้ามมิให้ผู้ใดเปิดบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ หรือกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ได้มีเจตนาใช้เพื่อตนเอง และห้ามไม่ให้ผู้ใดยินยอมให้บุคคลอื่นใช้ หรือยืมใช้ซิมโทรศัพท์ของตน ทั้งที่รู้หรือควรจะรู้ ซึ่งอาจจะนำไปใช้ในการทุจริตหรือทำผิดกฎหมาย ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  2. ห้ามมิให้ผู้ใดเป็นธุระจัดหาโฆษณา เพื่อให้มีการซื้อหรือขายบัญชี บัตรอิเล็กทรอนิกส์ กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือซิมโทรศัพท์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดการกระทำความผิดอาญา ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2-5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ ความหมายของ บัญชีม้า หรือบัญชีเงินฝากที่มิจฉาชีพสวมรอยนำไปใช้ในการก่ออาชญากรรม อ้างอิงจากฝ่ายกฎหมายและฝ่ายรักษาความปลอดภัยของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า บัญชีม้า คือ บัญชีเงินฝากธนาคารของบุคคลอื่น ซึ่งถูกคนร้ายนำมาใช้เป็นช่องทางในการรับเงินและถ่ายโอนเงินที่ได้มาจากการกระทำความผิด เพื่อป้องกันไม่ให้มีพยานหลักฐานเชื่อมโยงมาถึงตัว โดยปัจจุบันมิจฉาชีพใช้หลากหลายวิธีในการนำบัญชีม้ามาใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงให้เปิดบัญชี หรือการจ้างให้ผู้อื่นเปิดบัญชีให้โดยไม่บอกสาเหตุที่แท้จริง และเมื่อมีการโอนเงินเข้ามาจากเหยื่อแล้วก็จะมีการโอนต่อไปอีกหลายทอด เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบเส้นทางการเดินเงินได้ยากขึ้น อีกทั้งยังยากต่อการติดตามหาผู้ร้ายตัวจริง



การผ่านพระราชกำหนดนี้ถือเป็นก้าวแรกในการแก้ปัญหา เพื่อลดความเสียหายจากบัญชีม้า รวมไปถึงปัญหาการหลอกลวง ฉ้อโกงของมิจฉาชีพ หรือ แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่กำลังเป็นปัญหาคุกคามความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งก็คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า หากมีการบังคับใช้กฎหมายนี้แล้วจะช่วยลดปัญหาการก่ออาชญกรรมทางออนไลน์ที่เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบันได้หรือไม่


ขอบคุณข้อมูลจาก





โพสต์: Blog2 Post
bottom of page