Jitanon Maneekhwan
รู้ไว้ ปลอดภัยกว่า สารเคมีรั่วไหล รับมืออย่างไร ?
#SecurityUpdate | รู้ไว้ ปลอดภัยกว่า กับวิธีการรับมือภัยอันตรายจาก #สารเคมีรั่ว

ปัญหาสารเคมีรั่วไหล ยังคงเป็นเหตุการณ์อันตรายทั้งต่อสภาพแวดล้อม และผู้คนที่อาศัยใกล้เคียง โดยล่าสุด ช่วงเช้าของวันที่ 22 ก.ย. 2565 ที่ผ่านมาได้มีการรายงานเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลที่โรงงานแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดนครปฐม จนสร้างความตื่นตระหนกให้กับประชาชนที่อยู่ใกล้พื้นที่เกิดเหตุ นอกจากนี้ยังมีการรายงานว่าประชาชนที่อยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และนนทบุรี ก็สามารถรับรู้ได้ถึงกลิ่นด้วยเช่นกัน
วันนี้ Security Pitch จึงขอมาแนะนำวิธีการรับมือจากภัยอันตรายจากสารเคมีรั่วไหล เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการเตรียมพร้อมในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดคิดขึ้น
🚗หากอยู่ในรถ
หาที่จอดรถริมข้างทางในพื้นที่ร่ม เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับความร้อนสูง ดับเครื่องยนต์ และปิดประตูหน้าต่างรถให้มิดชิด พร้อมเปิดวิทยุรับฟังข่าวสาร คำแนะนำในการปฏิบัติตน และรอจนกว่าจะได้รับแจ้งให้สามารถใช้ถนนได้ตามปกติ จึงค่อยเลื่อนรถออกจากบริเวณดังกล่าว
🏡หากอยู่ในอาคาร
ปิดประตู หน้าต่างอาคารให้มิดชิด หากได้รับแจ้งว่าจะเกิดการระเบิด ให้ปิดผ้าม่าน เพื่อป้องกันสะเก็ดระเบิด ปิดระบบระบายอากาศภายในอาคารทั้งหมด เช่น พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องทำความร้อน เป็นต้น จากนั้นให้เข้าไปหลบอยู่ในพื้นที่ในสุดของอาคาร นำถุงพลาสติกหรือเศษผ้าชุบน้ำอุดหรือปิดช่องประตู ใช้แผ่นพลาสติกปิดคลุมหน้าต่างหรือเทปกาว ปิดตามช่องระบายอากาศ พร้อมโทรแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบทันที
🚧กรณีอยู่ในพื้นที่ที่เกิดสารเคมีรั่วไหล
รีบอพยพออกจากพื้นที่ที่มีสารเคมีรั่วไหล โดยใช้ผ้าสะอาดปิดจมูก เพื่อป้องกันการสูดดมสารเคมีเข้าสู่ร่างกาย พยายามหนีออกไปอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวก ทางด้านเหนือลมหรือที่สูง จากนั้นให้รีบแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบมากำจัดหรือทำความสะอาดบริเวณที่เกิดการรั่วไหล
เนื่องจากสารเคมีที่ใช้ในชีวิตประจำวันส่วนมากจัดเป็นสารอันตราย ซึ่งสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ทั้งโดยการสัมผัสการรับประทาน การสูดดม ซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงขอแนะวิธีปฐมพยาบาลผู้ได้รับอันตรายจากสารเคมีในเบื้องต้นก่อนนำส่งสถานพยาบาล ดังนี้
💪ผิวหนัง
ใช้ผ้าสะอาดเช็ดสารเคมีออกจากผิวหนังและรีบล้างออกทันทีด้วยการนำน้ำสะอาดไหลผ่านบริเวณที่ถูกสารเคมีอย่างน้อย 15 นาทีรีบถอดเสื้อผ้าที่เปื้อนสารเคมีออก จากนั้นให้อาบน้ำชำระล้างร่างกายให้สะอาดด้วยการฟอกสบู่และล้างด้วยน้ำจำนวนมากเพื่อให้สารเคมีเจือจาง
👀ดวงตา
ให้รีบล้างออกโดยพยายามลืมตาในน้ำและเปิดเปลือกตาออก เพื่อให้น้ำไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาที ระวังอย่าให้น้ำกระเด็นไปเข้าตาอีกข้างหนึ่ง ห้ามขยี้ตาหรือใช้แอลกอฮอล์ น้ำยาล้างตาหรือน้ำยาหยอดตาอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำ ให้ตาระคายเคืองมากขึ้น หลังจากทำความสะอาดเสร็จแล้วให้ใช้ผ้าก๊อซปิดดวงตาที่ได้รับอันตรายจากสารเคมี
👃สูดดม
ให้รีบนำผู้ป่วยออกมาอยู่ในที่โล่งแจ้งหรือบริเวณที่อากาศถ่ายเทสะดวกทางด้านเหนือลม ห่างจากที่เกิดเหตุไม่ต่ำ กว่า 100 เมตรหรือเปิดประตู หน้าต่าง เพื่อระบายอากาศและลดความเข้มข้นของสารเคมีที่รั่วไหล พร้อมทำการผายปอดเพื่อกระตุ้นระบบทางเดินหายใจทำให้ผู้ป่วยหายใจสะดวกขึ้น
🍴รับประทาน
ให้ปฐมพยาบาลด้วยการทำให้อาเจียน แต่ต้องแน่ใจว่าผู้ประสบเหตุไม่ได้รับสารพิษที่เป็นกรด เพราะการอาเจียนจะทำให้อวัยวะภายในบอบช้ำมากขึ้น หากผู้ประสบพิษไม่ได้รับสารพิษที่เป็นกรด ให้ล้วงคอเพื่ออาเจียน แล้วให้ดื่มนม กลืนไข่ขาวหรือน้ำเปล่าในทันที จะช่วยลดอัตราการดูดซึมของสารเคมีได้แต่ห้ามทำในกรณีผู้ป่วยชัก หมดสติ ไม่รู้สึกตัว เพราะเศษอาหารจะเข้าไปติดในหลอดลม ทำให้หายใจไม่ออกเสียชีวิตได้
ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
#สารเคมีรั่ว #อันตราย #ความปลอดภัย #Securitypitch