Sarunya Chaiduangsri
เฝ้าระวังภัยคุกคามจากการใช้ AI

การนำ AI มาใช้ในองค์กรเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์สามารถอำนวยความสะดวกให้กับการทำงานได้ อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกนี้ก็เป็นดั่งดาบสองคม เพราะแม้จะช่วยให้องค์กรทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากไม่ระมัดระวังก็อาจกลายเป็นภัยคุกคามรุนแรงได้อย่างคาดไม่ถึง
โดยพื้นฐานแล้ว AI จะมีการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ จากข้อมูลที่เคยได้รับ แล้วนำมาประมวลผลเพื่อใช้ตอบคำถาม หรือมอบทางเลือกที่ดีที่สุดในกระบวนการทำงานขององค์กร ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่ AI จะมีการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของคนในองค์กร หรือลูกค้าออกไปได้ ซึ่งอาจทำให้ผิดกฎหมาย PDPA หรือสัญญาการรักษาความลับที่ทำขึ้นระหว่างลูกค้ากับองค์กรได้ ดังนั้นหากต้องนำ AI มาใช้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล ก็อาจต้องมีการระมัดระวังให้มากขึ้น
นอกจากนี้การนำ AI มาใช้ในองค์กรยังอาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการทำงานที่คาดไม่ถึง โดยเฉพาะการใช้ Chatbot ที่อาจมีผู้คุกคามเข้าถึง Chatbot ได้โดยง่าย และใช้ทักษะที่มีในการสร้างมัลแวร์ หรือโค้ดอันตราย แอบติดตั้งไว้กับ Chatbot นั้น ๆ เพื่อขโมยข้อมูลของผู้ใช้งาน หรือเข้าถึงข้อมูลสำคัญขององค์กรได้โดยไม่รู้ตัว
ไม่เพียงเท่านั้น ด้วยความสามารถของ AI ที่นำเอาข้อมูลจากหลาย ๆ แหล่งมาประมวลผล เพื่อสร้างข้อมูลใหม่ เช่น การสร้างภาพจาก AI ก็อาจเข้าข่ายทำผิดลิขสิทธิ์ หรือสิทธิทางปัญญาได้โดยไม่ตั้งใจ และอาจทำให้เกิดการฟ้องร้องระหว่างองค์กรกับเจ้าของผลงานต้นฉบับได้ด้วย
ขณะที่เรื่องของความโปร่งใส บางครั้ง AI ก็ไม่อาจสามารถให้ผลลัพธ์ที่โปร่งใสได้อย่างแท้จริง เพราะการประมวลผลของ AI มักจะใช้หลักการตรรกะเป็นหลัก ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ว่า AI อาจแสดงผลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงได้ด้วยเช่นกัน
ได้ทราบแบบนี้แล้ว บางท่านอาจคิดว่าการใช้ปัญญาประดิษฐ์สามารถส่งผลเสียได้ แต่นั่นก็ไม่ถูกต้องเสียทีเดียว เพราะหากมีการควบคุมขอบเขตการทำงาน และการประมวลผลของ AI ให้อยู่ในขอบเขตที่กำหนด โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย หรือเครื่องมือที่ช่วยควบคุมดูแลการทำงานของ AI พร้อมกับการสร้างความตระหนักถึงความปลอดภัยให้กับคนในองค์กร ก็จะสามารถป้องกัน รู้เท่าทันภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันก็สามารถใช้ประโยชน์จาก AI ได้อย่างตรงจุดมากที่สุด
ขอบคุณข้อมูลจาก