Sarunya Chaiduangsri
กฎหมาย ฉีดไข่ฝ่อ ช่วยลดสถิติคดีทางเพศได้จริงหรือ ?

#SecurityUpdate | กฎหมาย ฉีดไข่ฝ่อ ช่วยลดสถิติคดีทางเพศได้จริงหรือ ?
หลังจากเป็นประเด็นข้อถกเถียงถึงความเหมาะสมกันมาอย่างยาวนาน ล่าสุดราชกิจจานุเบกษาได้ออกประกาศบังคับใช้กฎหมายฉีดไข่ฝ่อเพื่อป้องกันการกลับมากระทำความผิดซ้ำของนักโทษคดีข่มขืน ทว่ากฎหมายฉบับนี้จะช่วยลดจำนวนคดีข่มขืนกระทำชำเรา และทำให้ผู้ที่มีแนวโน้มจะกระทำผิดเกิดความหวาดกลัวได้จริงหรือไม่
ต้องยอมรับว่าคดีทางเพศ อย่างคดีล่วงละเมิดทางเพศ และคดีข่มขืนกระทำชำเรา เป็นหนึ่งในคดีที่มีอัตราผู้กระทำผิดสูงมากที่สุดคดีหนึ่งในประเทศไทย โดยจากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติพบว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 ถึง พ.ศ. 2564 มีคดีข่มขืนกระทำชำเราสูงถึง 9,917 คดี หรือตกถึงวันละ 5 คดีเป็นอย่างต่ำ นั่นหมายความว่าในทุก ๆ วัน มีเหยื่ออย่างน้อย 5 คน หรือมากกว่านั้นต้องทนทุกข์จากคดีข่มขืนกระทำชำเรา ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนที่ไม่น้อยหากเทียบกับคดีอื่น ๆ ในแต่ละปี และถึงแม้ว่าจะมีการรณรงค์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคดีทางเพศขึ้น แต่ก็ดูเหมือนว่าจำนวนก็ยังคงไม่ลดลงอย่างที่ควรจะเป็น โดยเสียงส่วนหนึ่งในสังคมระบุว่า เป็นเพราะมาตรการทางกฎหมายที่อาจไม่เข้มงวดมากพอ อีกทั้งยังมีการลดโทษ หรือการพักโทษให้กับผู้กระทำความผิด จนทำให้เกิดความย่ามใจ และกลับมาก่อคดีซ้ำได้ในที่สุด เมื่อถูกจับได้และกลับไปรับโทษ หากได้รับการลดโทษ ก็จะวนกลับมากระทำความผิดซ้ำ ๆ แบบนี้ ทำให้ปัญหาคดีข่มขืนกระทำชำเราเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าไม่มีวันหมดไป
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนก็ไม่ได้เพิกเฉยกับปัญหาที่เกิดขึ้น และได้หามาตรการป้องกันที่เหมาะสมกันมาตลอดหลายปี จนในที่สุด เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาก็ได้มีการประกาศบังคับใช้กฎหมายป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง โดยมีสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ เพื่อป้องกันและเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมซ้ำของผู้ต้องหา รวมถึงสร้างความปลอดภัยให้สังคม เนื่องจากข้อมูลจากกระทรวงยุติธรรมพบว่า ผู้กระทำผิดในคดีอุกฉกรรจ์ที่ใช้ความรุนแรงเมื่อพ้นโทษแล้วมีแนวโน้มที่จะกลับกระทำความผิดซ้ำในระยะ 3 ปี หลังพ้นโทษสูงถึง 50 % การประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้จึงเป็นความหวังที่จะช่วยให้จำนวนผู้กระทำผิดซ้ำในคดีข่มขืนกระทำชำเราลดลงได้อีกทางนี้
ทั้งนี้ ตามประกาศในราชกิจจานุเบกษา ได้มีการกำหนดให้มีคณะกรรมการ 2 ชุด ได้แก่
คณะกรรมการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายและแผนการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ ให้คำปรึกษาแลข้อเสนอแนะ
คณะกรรมการพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำ มีหน้าที่กำหนดมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ และมาตรการคุมขังภายหลังพ้นโทษ
ส่วนมาตราการในการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิด และมาตรการเฝ้าระวังนักโทษเด็ดขาดภายหลังพ้นโทษ ก็ยังให้อำนาจพนักงานอัยการสามารถยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแก้ไขฟื้นฟูผู้กระทำความผิดเพื่อป้องกันไม่ให้กลับมากระทำความผิดซ้ำได้ด้วยมาตรการต่าง ๆ เช่น มาตรการทางแพทย์ อย่างการฉีดยากดฮอร์โมนเพศชาย หรือที่เรียกกันว่า ฉีดไข่ฝ่อ โดยจะต้องมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช และอายุรศาสตร์อย่างน้อยสาขาละ 1 คน เห็นพ้องกัน อีกทั้งยังต้องได้รับความยินยอมจากผู้กระทำผิดด้วย โดยมาตรการทางการแพทย์นี้ยังสามารถใช้เพื่อเป็นเงื่อนไขพิจารณาลดโทษ พักการลงโทษ หรือให้ผู้กระทำผิดได้รับการปล่อยตัวก่อนกำหนดได้
มาตรการทางการแพทย์เพื่อป้องกันการกลับมากระทำความผิดซ้ำในคดีทางเพศ อย่างการฉีดไข่ฝ่อนั้น เป็นมาตรการที่มีการใช้ในต่างประเทศมานานแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเทศเกาหลีใต้ ปากีสถาน อินโดนีเซีย และประเทศอื่น ๆ ในทวีปยุโรป รวมไปถึงบางรัฐในประเทศสหรัฐอเมริกา ก็ได้มีการนำมาตรการบังคับฉีดยากดฮอร์โมนเพศให้แก่ผู้กระทำความผิดในคดีความผิดทางเพศมีตั้งแต่ปี ค.ศ. 1997 แล้วเช่นกัน
ถึงแม้ว่ามาตรการนี้จะสามารถช่วยลดอัตราการก่อคดีความรุนแรงทางเพศในต่างประเทศได้ แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงในเรื่องของจรรยาบรรณแพทย์ รวมถึงยังมีความกังวลว่าจะถึงเรื่องผลข้างเคียงที่ผู้ต้องหาจะได้รับ ดังนั้นในประเทศต่าง ๆ ที่มีการใช้กฎหมายดังกล่าวจึงยังต้องมีการระมัดระวังเรื่องการให้ข้อมูลที่เพียงพอก่อนผู้ต้องหาจะตัดสินใจรับการฉีดยาลดฮอร์โมน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นในภายหลัง
และในประเทศไทย การผ่านกฎหมายฉบับนี้ แม้ว่าจะเริ่มมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังจากประกาศในราชกิจจจานุเบกษา ซึ่งก็คือ 25 มกราคม 2566 ก็ตาม แต่เราที่เป็นประชาชนก็คงต้องมีการจับตามองว่ากฎหมายฉบับนี้จะถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถลดจำนวนคดีความรุนแรงทางเพศได้จริงหรือไม่ หรือกลุ่มคนที่เห็นต่างออกมาโต้แย้งโดยให้เหตุผลว่าริดรอนสิทธิมนุษยชนหรือไม่ เป็นเรื่องที่เราต้องติดตามกันต่อไป
ขณะเดียวกันประชาชน หน่วยงาน และภาครัฐเองก็ควรที่จะตระหนักถึงการเรียนรู้ หาแนวทางในการป้องกัน เพื่อความปลอดภัยในทุกมิติ ทั้งนี้ก็เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในสังคม เพราะความปลอดภัยไม่ว่าใครก็ควรได้รับ
ขอบคุณข้อมูลจาก