top of page
  • รูปภาพนักเขียนSecurity Pitch

การออกแบบระบบความปลอดภัยทางกายภาพ (Physical Security Design)

PHYSICAL SECURITY หรือ ความปลอดภัยทางกายภาพ คืออะไร? ความปลอดภัยทางกายภาพ (Physical Security) คือ อุปกรณ์ หรือระบบการรักษาความปลอดภัย ที่คุณอาจมองเห็น หรือมองไม่เห็นจากการถูกซ่อนหรือปกปิด ซึ่งอาจหมายถึง กำแพง/สิ่งกีดขวาง (Physical Fence) กล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV), อุปกรณ์/ระบบควบคุมการเข้า-ออก (Access Control System), ระบบป้องกันและแจ้งเตือนการบุกรุก (Intrusion Detection and Alarm System), ระบบแสงสว่าง (Lighting System) หรือ ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัย (Security Surveillance Center)

.

ขณะที่การสร้างหรือการพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นบ้าน อาคาร ยานพาหนะ ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ต้องผ่านการออกแบบ หรือ ดีไซน์ การรักษาความปลอดภัยก็เช่นเดียวกัน จำต้องมี “การออกแบบระบบความปลอดภัย” หรือ Security Design” ดังนี้


Threat Assessment หรือการประเมินภัยคุกคาม ซึ่งทำเพื่อระบุภัยคุกคามและความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่ต้องเผชิญ โดยขึ้นอยู่กับลักษณะของธุรกิจนั้น ๆ

History พื้นฐานหรือประวัติของธุรกิจ ประวัติของเจ้าของ/ผู้ก่อตั้ง และ/หรือผู้ถือหุ้น

Location ตำแหน่งที่ตั้งหรือลักษณะภูมิประเทศของพื้นที่ ซึ่งสัมพันธ์กับ History ยกตัวอย่างเช่น พื้นที่ซึ่งวางแผนไว้สำหรับตั้งโรงงาน เคยมีประวัติเป็นพื้นที่รับน้ำท่วมถึง 2 ครั้ง ภายในระยะเวลา 10 ปีย้อนหลัง

Security Concern ข้อกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของลักษณะของธุรกิจนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น บางธุรกิจเป็นพื้นที่เฉพาะสำหรับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล จึงมีการจำกัดหรือเข้มงวดการเข้า-ออก

Corporate Requirements / Policy นโยบายหรือข้อกำหนดขององค์กร (Corporate Compliant) ที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติ

Standard มาตรฐานความปลอดภัยเฉพาะของลักษณะของธุรกิจนั้น ๆ ยกตัวอย่างเช่น สนามบินนานาชาติ มีองค์กรกำกับดูแลทั้งระหว่างประเทศและในประเทศ หรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อทำการส่งออกสินค้าไปยังบางประเทศ เป็นต้น

.

สำหรับพื้นฐานการออกแบบความปลอดภัยทางกายภาพ (Physical Security Design) พื้นที่ที่มั่นคงแล้วและไม่ต้องปรับเปลี่ยนแผนผังบ่อย จะมีแนวทางในการออกแบบแบ่งตามระดับ (Layered Approach) ดังนี้


[1] แนวคิดของ Security Design ตามประสบการณ์ของผู้เขียน

Deterrence (การป้องปราม) : ป้องกันพื้นที่นอกอาณาบริเวณ โดย

- ใช้ระบบแสงสว่าง (Lighting System) เพื่อทำให้พื้นที่รอบนอกไม่มีจุดบอดหรือลับสายตา โดยเฉพาะในเวลากลางคืน

- ติดป้ายแจ้งเตือน เช่น บ้านนี้สุนัขดุ หรือพื้นที่นี้มีกล้องวงจรปิด เป็นต้น


Detection (การตรวจจับ) : ป้องกันพื้นที่ชั้นนอกสุดที่อยู่ก่อนเข้าอาณาบริเวณหรือบริเวณรั้ว โดย

- ตรวจจับด้วย “ระบบป้องกันและแจ้งเตือนการบุกรุก หรือ Intrusion Detection and Alarm System”

- สามารถตรวจจับทั้ง คน ยานพาหนะ และสัตว์ ด้วยกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ที่ทำงานร่วมกับระบบ Video Analytic หรือ Biometric หรือ AI


Delay (การถ่วงเวลา) : ป้องกันพื้นที่ชั้นกลางก่อนเข้าสู่บริเวณตัวอาคาร และเมื่อเข้าสู่ตัวอาคาร โดย

- ใช้ระบบป้องกันการกระแทกจากยานพาหนะ สำหรับสถานที่สำคัญที่ต้องการอุปกรณ์การรักษาความปลอดภัยระดับสูง เช่น Road Blocker หรือ Ballard เป็นต้น

- ควบคุมการเข้า-ออกทางกายภาพ (Physical Access Control) เช่น ใช้กำแพง รั้ว ประตูธรรมดา หรือประตูแบบ High Security (Mantrap, Revolving door, Turnstile, Flap barrier) เป็นต้น

- ใช้ระบบควบคุมการเข้า-ออก (Access Control System) ที่ทำงานร่วมกับ Video Analytic หรือ Biometric หรือ AI


Alert (การแจ้งเตือน) : พื้นที่ที่ต้องการความปลอดภัยระดับสูง จำเป็นต้องมีการเฝ้าระวังตลอดเวลา (24/7) มีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัย (Security Surveillance Center) และใช้เทคโนโลยีระบบการสื่อสารประสิทธิภาพสูง ที่สามารถแจ้งเตือนไปยังอุปกรณ์สื่อสารแบบพกติดตัว (Mobile Devices) ได้ทันที


Respond (การปฏิบัติการ) : เมื่อได้รับการแจ้งเตือนสามารถส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติการ เช่น หน่วยงานรักษาความปลอดภัยในพื้นที่ เช่น ตำรวจ แพทย์ ดับเพลิง กู้ภัย ได้ทันที


บทความโดย: นายเตชิต ทิวาเรืองรอง

คณะกรรมการร่างมาตรฐาน ซีซีทีวี ไอโอที เอไอ และการแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลร่วมกันวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์



ดู 6,874 ครั้ง0 ความคิดเห็น
โพสต์: Blog2 Post
bottom of page